ตะกั่วเป็นพิษ เป็นภาวะที่พบได้เป็นครั้งคราว ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในบ้านเรา อาจพบการรับพิษสารตะกั่วจาก
แหล่งต่าง ๆ เช่น
1. โรงงานทำแบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉาย ร้านอัดแบตเตอรี่ หรือขายแบตเตอรี่ ร้านเจียระไนเพชรพลอย(ซึ่งมีเครื่องมือที่มีตะกั่วเป็นส่วนประกอบ) โรงพิมพ์ที่ใช้ตัวพิมพ์ทำจากสารตะกั่ว ร้านเชื่อมโลหะ เป็นต้น
2. ใช้เปลือกแบตเตอรี่ที่ทิ้งแล้ว มาเป็นเชื้อเพลิง เคี่ยวน้ำตาล หรือมาปูลาดเป็นทางเดิน
3. ดื่มน้ำที่มีสารตะกั่วเจือปน เช่น น้ำจากบ่อที่แปดเปื้อนสารตะกั่ว หรือ น้ำจากท่อที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากเกินไป
4. สีทาบ้าน และสีที่ใช้ทาของเล่น ที่มีสารตะกั่วเจือปน เด็กอาจหยิบกินโดย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางครั้งอาจเป็นกันทั้งครอบครัว หรือทั้งหมู่บ้าน หรือทั้งโรงงาน ถ้าหากมีการรับสารตะกั่วจากแหล่งเดียวกัน เช่น ดื่มน้ำจากบ่อเดียวกันหรือ ทำงานในโรงงานเดียวกัน
5. แป้งทาเด็กที่มีสารตะกั่วเจือปน (เช่น ร้านขายยานำแป้งที่ใช้ผสมสีทาบ้าน มาขายเป็นแป้ง ทาแก้ผดผื่นคัน)
ผู้ปกครองซื้อมาทาเด็ก โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนเกิดพิษตะกั่วเรื้อรัง
สาเหตุ
เกิดจากการสูดไอตะกั่ว หรือกิน หรือสัมผัสสารตะกั่ว (ดูดซึมผ่านผิวหนัง) เป็นเวลานาน จนร่างกายมีการสะสม สารตะกั่ว ถึงระดับที่เป็นพิษมักเกิดจากการประกอบอาชีพในโรงงานที่มีสารตะกั่ว หรือ เกิดจากความประมาทเลินเล่น หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเกิดจากการเล่นซนของเด็ก ๆ
อาการ
ผู้ป่วยอาจแสดงอาการได้หลายอย่าง เช่น ปวดบิดในท้องอย่างรุนแรงโดยหาสาเหตุไม่พบ ร่วมกับอาการท้องผูก หรือไม่ก็ถ่ายเป็นเลือดอาจมีอาการซีด เนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายเร็วขึ้น และสร้างได้น้อยเนื่องจากพิษของตะกั่วที่มีต่อระบบเลือดอาจมีอาการปลายประสาทอักเสบ ซึ่งจะพบผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ที่พบได้บ่อย คือ ประสาทมือเป็นอัมพาตทำให้ข้อมือตก เหยียดไม่ขึ้น และประสาทเท้าเป็นอัมพาต ทำให้ปลายเท้าตกเดินขาปัด ที่ร้ายแรงได้แก่ภาวะผิดปกติทางสมอง ซึ่งจะพบมากในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ส่วนผู้ใหญ่พบได้น้อย เด็กจะมีอาการเดินเซ อาเจียน ซึม เพ้อ บุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิมนำมาก่อนแล้วจะมีอาการชักและหมดสติ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา ก็มักจะตายในที่สุด หรือไม่สมองอาจพิการ และปัญญาอ่อน
ส่วนในรายที่มีพิษตะกั่วเรื้อรัง อาจมีอาการอ่อน เพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ขาเป็นตะคริว บางคนอาจพบรอยสีเทา ๆ ดำ ๆ ของสารตะกั่ว ที่ขอบเหงือก ในคนที่ไม่มีฟันจะไม่พบอาการนี้ และในเด็กก็มีโอกาสพบได้น้อย
การรักษา
หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล ถ้ามีอาการชัก ให้ฉีดไดอะซีแพม ก่อนส่งควรตรวจดูระดับตะกั่วในเลือด (มักพบสูงกว่า 80 ไมโครกรัม ต่อเลือด 100 มล.) และในปัสสาวะ (มักพบสูงกว่า1 มิลลิกรัมต่อปัสสาวะ 24 ชั่วโมง) สารคอโพรพอร์ไพริน (Coproporphyrin) ในปัสสาวะ จะมีค่าสูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อปัสสาวะ 100 มล.การตรวจดูเม็ดเลือดแดง จะพบลักษณะที่เรียกว่า Basophilic stippling การตรวจเอกซเรย์ อาจพบรอยทึบแสงของสารตะกั่วในลำไส้ และรอยสะสมของตะกั่วที่ปลายกระดูกแขนขา การรักษา ให้ฉีดยาขับตะกั่ว ได้แก่ ไดเมอร์แคปรอล (Dimercaprol) เช่น บีเอแอล (BAL) ร่วมกับ
แคลเซียมไดโซเดียมอีดีเทต (Calcium disodium edetate) เช่น อีดีทีเอ (EDTA) เป็นเวลา 5-7 วัน เมื่ออาการดีขึ้น ควรให้กินเพนิซิลลามีน (Penicillamine) ต่ออีก 1-2 เดือน (ในผู้ใหญ่) หรือ 3-6 เดือน (ในเด็ก)ผลการรักษา ถ้าไม่มีอาการทางสมอง ก็มักจะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้ามีอาการทางสมอง อาจมีอันตรายถึง ทุพพลภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในเด็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีอัตราตายถึง 25%
ข้อแนะนำ
1. โรคตะกั่วเป็นพิษอาจมีอาการได้หลายแบบ ดังนั้น ถ้าพบคนที่มีอาการปวดท้อง, ซีด, ข้อมือตก ,ข้อเท้าตก,บุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม, เพ้อ, ชัก หรือหมดสติ ควรถามประวัติการเกี่ยวข้องกับสารตะกั่ว หากสงสัยควรส่งไปตรวจรักษา ที่โรงพยาบาล
2. คนที่มีอาการผิดปกติทางสมอง เนื่องจากตะกั่วเป็นพิษ อยู่ ๆ อาจแสดงอาการแปลก ๆ เช่น เพ้อ คลุ้มคลั่ง ชัก
ชาวบ้านอาจเข้าใจผิดว่าเกิดจาก "ผีเข้า" หรือ "วิกลจริต" แล้วพาไปรักษาทางไสยศาสตร์ ซึ่งมักจะเสียชีวิต ลงอย่างน่าอนาถ ทางที่ดี ควรหาทางชักจูงให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล เพราะมีทางรักษาให้หายได้
การป้องกัน
1. คนที่ทำงานเกี่ยวกับสารตะกั่ว (เช่น โรงงานแบตเตอรี่) ควรหามาตรการป้องกันโดยการจัดสภาพ การทำงานให้ปลอดภัย (เช่น มีเสื้อคลุมป้องกันพิษ ตะกั่ว, มีอ่างน้ำและห้องอาบน้ำพอเพียง, มีทางระบาย ไม่ให้มีการสะสมของฝุ่นตะกั่ว) ห้ามสูบบุหรี่ และ กินอาหารในห้องที่มีสารตะกั่ว และควรมีการตรวจระดับตะกั่วในเลือดและปัสสาวะทุก 6 เดือน ถ้าพบว่า ระดับตะกั่วสูงควรให้หยุดงานหรือเปลี่ยนไปทำงาน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารตะกั่ว ถ้าสูงมากควรให้กินยาลดสารตะกั่ว ถึงแม้จะยังไม่มีอาการแสดงก็ตาม
2. ควรแนะนำให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงอันตราย ของตะกั่วซึ่งมีเจือปนอยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่ายไฟฉาย สีทาบ้าน ของเล่นเด็ก เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้นำไปใช้ในทางที่ผิด ๆ หรือหาทาง ป้องกันมิให้ เด็ก ๆ หยิบกินเล่นด้วยความไร้เดียงสา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
รายละเอียด
อย่าลืมถามประวัติการสัมผัสสารตะกั่วในคนที่ปวดท้อง ซีด ชัก หมดสติ ข้อมือข้อเท้าตก
No comments:
Post a Comment