ค้นหาข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ

Google
 

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนต่อสู้กับโรคร้ายต่างๆให้ได้นะคะ

อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

Friday, May 23, 2008

ไขมันในโลหิตสูง

ภาวะไขมันในโลหิตสูง นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลอดโลหิตตีบตัน ที่จะส่งผลให้เกิดโรคอัมพาต และโรคหัวใจแล้วยังเป็นปัญหาด้านงานบริการโลหิตอย่างมาก

ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พบว่าพลาสมาในโลหิตของผู้บริจาคมีลักษณะขุ่นขาวมากกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการมีสารไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์หรือโคเลสเตอรอลสูง ส่งผลให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ต้องจำหน่ายโลหิตดังกล่าวทิ้งเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 800 ยูนิต นับเป็นการสูญเสียที่สูงมาก ดังนั้นก่อนบริจาคโลหิตในแต่ละครั้ง ผู้บริจาคควรงดรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

F1,F2,F3 คืออะไร

สำหรับผู้บริจาคโลหิต ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ที่มีรหัส F1,F2,F3 ปรากฏในบาร์โค้ตการบริจาคโลหิต แสดงว่า พบพลาสมาขาวขุ่นในโลหิตมากกว่าปกติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

F1 หมายถึง พบพลาสมาขาวขุ่นเป็นครั้งแรก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะแจ้งให้ผู้บริจาคโลหิตทราบ รวมทั้งให้คำแนะนำ และความรู้เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการลดระดับไขมันในโลหิต

F2 หมายถึง เมื่อมาบริจาคโลหิตอีกครั้ง ก็ยังพบว่ามีพลาสมาขาวขุ่นเหมือนเดิม ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้บริจาคมาตรวจหาระดับไขมันในโลหิต โดยให้งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ยกเว้นน้ำเปล่าประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนเจาะโลหิต

F3 หมายถึง ยังพบพลาสมาขาวขุ่น ให้งดบริจาคโลหิต

ไขมันในโลหิตมี 3 ประเภท คือ
1. โคเลสเตอรอล ได้มาจากการสังเคราะห์ที่ตับและจากอาหาร ไขมันสัตว์ที่รับประทานมีหน้าที่เป็นองค์ประกอบในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตเป็นส่วนประกอบของถุงน้ำดี แต่ถ้ามีระดับสูงมากเกินพอจะเกิดเป็นแผ่นคราบเกาะแน่นที่ผนังชั้นในของหลอดโลหิต
2. เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล เป็นโคเลสเตอรอล ดี มีหน้าที่นำเอาโคเลสเตอรอลไปทำลายที่ตับ ทำให้มีโอกาสเกิดหลอดโลหิตตีบลดลง
3. ไตรกลีเซอร์ไรด์ ได้มาจากการสังเคราะห์ที่ตับ และจากอาหารประเภทไขมันสัตว์ แป้งและน้ำตาล ถ้ามีระดับสูงมากจะทำให้หลอดโลหิตอุดตัน

สาเหตุของไขมันในโลหิตสูง
1. กรรมพันธุ์ เกิดจากความผิดปกติในการเผาผลาญสารไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย ความผิดปกตินี้ถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้
2. การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากๆเป็นประจำ เช่น หมูสามชั้น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ฯลฯ
3. รับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล กะทิจำนวนมากๆ
4. โรคเบาหวาน โรคต่อมธัยรอยด์ไม่ทำงาน โรคตับ โรคไต โรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้การเผาผลาญสารไขมันผิดปกติ
5. ยา ในยาบางชนิดทำให้ไขมันในโลหิตสูงได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด ยากลุ่มเสตียรอยด์ เป็นต้น

ระดับไขมัน
ชนิดของไขมัน ระดับที่เหมาะสม (mg/dl) ระดับที่เหมาะสมในผู้บริจาคโลหิต (mg/dl)
โคเลสเตอรอล 150-220 < 200
ไตรกลีเซอร์ไรด์ 40-150 < 200
เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล > 50 > 50

วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันระดับไขมันในโลหิตสูง
1. ลดน้ำหนักตัวถ้าอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินโดยลดปริมาณอาหาร และออกกำลังกาย อาหารที่มีไขมันสูงที่ท่านควรเลี่ยง เช่น ไข่แดง, ไข่นกกระทา, เครื่องในสัตว์, เนื้อสัตว์ส่วนที่ติดมันทุกชนิด, สมองสัตว์, อาหารทะเล เช่น หอยนางรม, ปลาหมึก ฯลฯ
2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน, อาหารทอดเจียว ควรใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น เนย น้ำมันหมู น้ำมันพืชที่สกัดจากเมล็ดพืชจะมีกรดไลโนเลอิกที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลไปเผาผลาญสูงกว่าน้ำมันที่สกัดจากเนื้อพืช
3. เครื่องดื่มจำพวกเบียร์ ขนมหวาน แป้งข้าวต่าง ๆ จะสะสมเกิดเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
4. ควรเพิ่มอาหารพวกผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใย และกาก เช่น คะน้า ผักกาด ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยอาหารมากขึ้น กากใยเหล่านี้จะช่วยให้การดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
5. พยายามเปลี่ยนแปลงวิธีปรุงอาหารเป็นการนึ่ง ต้ม ย่าง อบ แทนการทอด หรือผัด
6. นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูงหากจะดื่มควรใช้นมพร่องมันเนยแทนนมสด
7. ออกกำลังกายเพื่อให้มีผลต่อการเผาผลาญพลังงาน และลดปริมาณไขมันในโลหิตนั้นต้องเป็นการออกกำลังที่สม่ำเสมอ มีการต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง สำหรับการออกกำลังที่ดีที่สุด เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอด และหัวใจ คือ การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ การขี่จักรยาน ซึ่งหากคุณมีอาการของโรคหัวใจอยู่แล้ว หรือมีอายุมากกว่า 40 ปี ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรออกกำลังกายชนิดใด และมากน้อยเพียงไร จึงจะเหมาะสมสำหรับท่าน เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์อย่างเดียว โดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ

ตัวอย่างอาหาร ปริมาณของโคเลสเตอรอลในอาหาร 100 กรัม (1 ขีด) (ในแต่ละวันควรได้รับโคเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัม)

ชนิดอาหาร ปริมาณ โคเลสเตอรอล (mg) ชนิดอาหาร ปริมาณโคเลสเตอรอล (mg)
ไขมัน เนื้อสัตว์
ไอศครีม 40 เนื้อแพะ,แกะ 60-70
ครีม 60 เนื้อไก่,เป็ด 60-90
ไขวัว 90-170 เนื้อหมูไม่ติดมัน 91
น้ำมันหมู 110 เนื้อปู 145
เนยแข็ง 140 เนื้อกุ้ง 150
เนยเหลว 250 ปลาหมึกสด 348
เครื่องในสัตว์ ปลาหมึกแห้ง 1,170
ตับหมู 364 หอยแครง,แมลงภู่ 454
หัวใจหมู วัว 135 หอยนางรม >200
ไข่ปลา >300 แฮม, ขาไก่ 100-110
ไข่นกกระทา 3,640 ปลาตะเพียน 90
ไข่แดงล้วน 1,480 ปลาลิ้นหมา 87
ไข่ไก่ 1 ฟอง 504 ปลาดาบเงิน 244
ไข่ขาว 0



ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย

โรคไวรัสตับอักเสบ

โรคไวรัสตับอักเสบ

ในปัจจุบันนี้ มีคนจำนวนมากคิดว่าโรคที่ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และเลือดที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายนั้นมีเฉพาะโรคเอดส์ แต่อีกหลายคนคงจะไม่ทราบว่าโรคไวรัสตับอักเสบ บี ไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถติดเชื้อได้จากทางนี้เช่นกัน ถึงแม้จะมีความรุนแรง และอันตรายไม่เท่ากับโรคเอดส์ แต่ถ้าไม่ทำการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง ก็อาจถึงกับเสียชีวิตได้



โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “โรคตัวเหลืองตาเหลือง หรือโรคดีซ่าน” เชื้อไวรัสตับอักเสบมีมานานแล้ว แต่มาค้นพบเมื่อการแพทย์เจริญมากขึ้น เชื้อไวรัสตับอักเสบที่ค้นพบขณะนี้คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ, เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี, เชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี และเชื้อไวรัสตับอักเสบที่ไม่ใช่เอและบี ภายหลังได้ชื่อว่า “ไวรัสตับอักเสบ ซี และไวรัสตับอักเสบ อี”



อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ

เชื้อไวรัสตับอักเสบที่เรียกชื่อแตกต่างกันนั้น โดยทั่วไปพบว่ามีอาการคล้ายคลึงกัน คือจะมีอาการอ่อนเพลียนำมา มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด เจ็บบริเวณชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง โดยทั่วไปแล้ว อาการของโรคตับอักเสบอาจปรากฏอยู่ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นค่อยๆ ลดลงจนหายเป็นปกติ ภายใน 4-6 สัปดาห์

โรคตับอักเสบบางชนิดอาจหายขาดได้ บางชนิดอาจเป็นเรื้อรังไปอีกหลายปี หรืออาจเกิดผลแทรกซ้อนตามมาในระยะยาว



โรคไวรัสตับอักเสบ บี

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะมีระยะฟักตัวของโรค ภายในเวลา 30-150 วัน โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีลมพิษเกิดขึ้นก่อนที่อาการตาเหลือง ตัวเหลืองจะปรากฏชัดเจน ผู้ที่ตรวจพบไวรัสตับอักเสบ บี มักจะไม่ค่อยกลัวและวิตกกังวลเท่าไร เพราะว่าถ้าได้รับการพักผ่อนเพียงพอ และได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้อง ดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ดื่มสุราจัด หรือใช้ชีวิตสมบุกสมบัน อะไรที่เป็นพิษเป็นภัยกับตับควรละเว้น สภาพตับจะดีขึ้น จะมีอันตรายก็ต่อเมื่อ ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปแล้วไม่ไปรับการรักษาพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ หายแล้วก็ไม่ค่อยระวัง โรคอาจจะกลับมาอีก คราวนี้จะมีความรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้



โรคไวรัสตับอักเสบ ซี

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดมานานแล้ว แต่ยังค้นไม่พบ สมัยก่อนเมื่อเห็นตัวเหลืองตาเหลืองก็จะตรวจเลือด แต่ผลจากการตรวจเลือดพบว่าไม่ใช่ไวรัส เอ หรือไวรัส บี ช่วงแรกจึงเรียกว่าไวรัสตับอักเสบไม่ใช่เอไม่ใช่บี ต่อมาประมาณปลายปี 2532 ได้มีน้ำยาตรวจสอบจึงพบไวรัสตัวหนึ่ง ในส่วนของไวรัสตับอักเสบ ไม่ใช่เอและไม่ใช่บี คือไวรัสตับอักเสบ ซี นั่นเอง

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ก็เหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบ บี คือเมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เข้าไปจะใช้ระยะเวลาฟักตัว 6 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน อาการที่พบจะรุนแรงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ติดเชื้อ ความรุนแรงของเชื้อที่พบใกล้เคียงกัน ผลจากการแทรกซ้อนสามารถทำให้เกิดโรคตับเรื้อรังได้เช่นเดียวกัน



การติดต่อของโรคไวรัสตับอักเสบ บี และโรคไวรัสตับอักเสบ ซี



โรคไวรัสตับอักเสบ บี และโรคไวรัสตับอักเสบ ซี จะแพร่เชื้อโรคไปยังผู้อื่นได้โดย



-การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบ ซี นั้น จากการศึกษา ขณะนี้พบว่าการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นน้อยมาก



-ทางเลือด โดยการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย เช่น ถูกเข็มที่ใช้เจาะเลือดหรือฉีดยาผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ตำหรือแทงโดยอุบัติเหตุที่มือ หรือผิวหนังมีแผลถลอกแล้วไปสัมผัสกับเลือดของผู้ป่วย



-แม่สู่ลูก คือแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในขณะตั้งครรภ์เมื่อคลอดลูก ลูกจะได้สัมผัสกับเลือดของแม่ในช่องคลอด จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีรายงานว่าติดต่อได้ทางนี้



ความรุนแรงของโรค

โรคไวรัสตับอักเสบ บี โรคนี้ถ้าอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน จะมีอาการของโรคตับอักเสบเรื้อรังได้ ในบางรายอาจเป็นตับแข็ง บางรายอาจมีอาการอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด บางรายอาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งของตับ สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มีข้อได้เปรียบกว่าโรคไวรัสตับอักเสบ ซี คือมีวัคซีนป้องกัน ฉะนั้นสามี ภรรยา หรือบุตรของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ และยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อกับบุคคลภายนอกในครอบครัวหรือคนอื่นอีกด้วย

โรคไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีวัคซีนป้องกันความรุนแรงของโรคใกล้เคียงกัน ผลจากการแทรกซ้อนสามารถทำให้เกิดโรคตับเรื้อรังได้เช่นเดียวกัน



การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี โรคไวรัสตับอักเสบ ซี

*ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

*ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น



โรคไวรัสตับอักเสบ บี และโรคไวรัสตับอักเสบ ซี รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่สามารถติดเชื้อได้ทางเพศสัมพันธ์และทางเลือดบางชนิด เช่นโรคซิฟิลิส ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ งดรับบริจาคโลหิตจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเหล่านี้

ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย

โรคไวรัสตับอักเสบบี

โรคตับอักเสบบี คืออะไร

ตับอักเสบบี คือ การอักเสบของเซลล์ตับอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBV) การอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได

ไวรัสตับอักเสบ มีความสำคัญกับเราหรือไม่

ในประเทศไทยคาดว่าประชากรประมาณร้อยละ 5 มีการติดเชื้อไวรัสตับอับเสบ บี นั่นหมายถึง ประชากรประมาณ 3 ล้านคน มีไวรัสนี้พร้อมที่จะแพร่ให้ผู้อื่นและก่อให้เกิดความเจ็บป่วยกับผู้ติดเชื้อ

ไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันอย่างไร

การติดเชื้อที่พบบ่อย คือ การถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก แต่ในปัจจุบันจะลดลงมากเพราะการฉีดวัคซีนให้ทารกที่คลอดมาจะช่วยป้องกันได้เกือบร้อยละ 100 ดังนั้นการติดต่อที่สำคัญในปัจจุบันคือ ทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ป้องกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบ บี จะสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์ การสัก เจาะหู หรือการฝังเข็ม โดยอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง การได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ไม่จำเป็นก็อาจเป็นสาเหตุได้แต่พบได้น้อยมากในการตรวจกรองของธนาคารเลือดในปัจจุบัน

หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีอาการอย่างไร

หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะเข้าไปฟักตัวในร่างกายเราประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด คลื่นไส้ อาเจียน จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับไต ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลา 2-3 สัปดาห์ และร่างกายจะค่อยๆ กำจัดไวรัสตับอักเสบ บี ออกไปพร้อมๆ กับการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีซ้ำอีก ผู้ป่วยร้อยละ 5-10 อาจโชคไม่ดี ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ เกิดการติดเชื้อเรื้อรังโดยเฉพาะหากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ตั้งแต่เด็กๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหากตรวจเลือดพบว่ามีไวรัสตับอักเสบ บี ผู้ป่วยบางรายจะมีการอักเสบของตับร่วมอยู่ด้วย ซึ่งหากมีการอักเสบตลอดเวลาจะทำให้มีการตายของเซลล์ตับ เกิดมีพังผืดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นตับแข็งในที่สุด ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจกลายเป็นมะเร็งตับซ้ำเติม

แพทย์สามารถวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ บี ได้อย่างไร

การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ บี ในปัจจุบันทำได้ง่ายมาก เพียงตรวจเลือดในปริมาณเล็กน้อยเพื่อหาเปลือกของไวรัส (HBsAg) ก็จะทราบได้ว่าท่านมีไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งแพทย์อาจตรวจหาหลักฐานว่ามีตับอักเสบหรือไม่โดยการตรวจระดับ เอนไซม์ของตับ (AST / ALT) โดยในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจนัดตรวจ 1-2 ครั้งในเวลาห่างกันทุกๆ 1-2 เดือน ก็จะทราบได้ว่าท่านมีตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่ นอกจากนั้นแพทย์อาจตรวจหาปริมาณไวรัสโดยทางอ้อมด้วยการตรวจ HBeAg หรือการตรวจนับไวรัสในเลือดโดยตรง เพื่อประเมินปริมาณของไวรัส ก่อนการรักษา แพทย์อาจจะตรวจชิ้นเนื้อตับ โดยใช้เข็มที่มีขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังหลังจากฉีดยาชา ซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อนี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการอักเสบของตับ

หากตรวจพบว่าท่านเป็นตับอักเสบ บี เรื้อรัง จะทำอย่างไร

ในปัจจุบันมีการรักษาที่ได้ผลในการลดการอักเสบของตับอยู่หลายวิธี ทั้งโดยยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน หรือยารับประทาน ลามิวูดีน ซึ่งยาทั้งสองอย่างสามารถลดปริมาณของไวรัส ลดการอักเสบของตับ ทำให้ระดับเอนไซม์ของตับกลับสู่ภาวะปรกติ นอกจากนั้นยังอาจลดเนื้อเยื่อพังผืดในตับ ป้องกันการเกิดตับแข็งหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ การตัดสินใจเลือกชนิดยาสำหรับการรักษา แพทย์ผู้ดูแลจะอธิบายกับท่านถึงผลดีผลเสียของการใช้ยาทั้งสองอย่าง และช่วยพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับยาชนิดใดมากกว่ากัน นอกจากนั้นท่านควรปฏิบัติตัวโดยการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรงดดื่มสุราและหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น พร้อมกับไปพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจการทำงานของตับและแพทย์อาจตรวจกรองหามะเร็งตับร่วมด้วย ท่านสามารถแต่งงานมีบุตรได้โดยควรตรวจคู่สมรสของท่านก่อนแต่งงาน หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันควรได้รับการฉีดวัคซีน ในกรณีมีบุตร ทารกทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากมารดาอยู่แล้ว และมารดาสามารถให้นมบุตรได้ตามปรกติ

หากท่านสงสัยว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบ บี ควรทำอย่างไร

ท่านควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเลือด ซึ่งสามารถให้คำตอบแก่ท่านได้ในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก โปรดอย่าลืมว่าไวรัสตับอักเสบ บี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนและแม้ท่านได้รับเชื้อไปแล้วมีภาวะตับอักเสบก็ยังรักษาได้โดยการใช้ยา ถึงแม้ว่าไวรัสตับอักเสบ บี อาจไม่ได้หมดจากร่างกายแต่ก็สามารถหยุดยั้งไม่ให้เกิดการอักเสบ ป้องกันการเกิดโรคแทรก

เราสามารถป้องกันตนเองได้อย่างไร
1.โดยดูแลตนเองให้พ้นจากความเสี่ยงดังกล่าว
2.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในผู้ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน

ใครบ้างที่ควรรับการฉีดวัคซีน
1.เด็กทารกที่เกิดใหม่ทุกคน
2.ผู้ที่ได้รับการตรวจเลือด แล้วพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน
3.ผู้ที่มีบาดแผลสัมผัสกับเลือดของคนที่เป็นพาหะ
4.ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับเลือดหรือสารจากเลือดบ่อยๆ
5.ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเลือด
6.ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวเป็นพาหะ หรือผู้ป่วยเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส บี
7.ผู้ที่จะแต่งงานกับคนที่เป็นพาหะ

วัคซีนนี้ฉีดอย่างไร
เด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก
- ฉีดวัคซีนขนาดของเด็ก เข็ม ห่างกัน 0 ,1 และ 6 เดือน
ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่
- ฉีดวัคซีนขนาดของผู้ใหญ่ เข็ม ห่างกัน 0,1 และ 6 เดือน

เหตุผลที่ควรรับการฉีดวัคซีน
ในเด็กทารกที่ติดเชื้อจากมารดา จะมีโอกาสเป็นพาหะของโรค และเมื่อโตขึ้นอาจจะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้ง่าย
ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่เมื่อเป็นแล้วจะต้องนอนพักผ่อน 1-2 เดือน ทำให้นักเรียนและนักศึกษาจะกระทบต่อผลการเรียนและพลาดโอกาสในการเรียนต่อ ถ้าเป็นคนทำงาน ก็จะหยุดงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานและประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังเพื่อนร่วมงานใกล้เคียงได้

เพราะเหตุใดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จึงแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่
1.จากการสัมผัสถูกเลือด โดยมีบาดแผลเกิดขึ้น เช่น จากการเล่นกีฬา เป็นต้น
2.จากการใช้ของร่วมกัน ได้แก่ แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ มีดโกนหนวด เป็นต้น
3.จากการดื่มกินโดยใช้ภาชนะเดียวกันร่วมกัน
4.จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นโอกาสที่เกิดสูงที่สุด

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบี
เมื่อมีการปฏิบัติตนให้ถูกต้องจะลดและป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่บุคคลใกล้ชิด ซึ่งสามารถปฏิบัติตนได้ดังนี้
1.รักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายได้ตามปกติ
2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
3.งดสุราและสิ่งที่มีพิษต่อตับ
4.ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
5.งดบริจาคเลือด น้ำเหลือง รวมทั้งน้ำเชื้อ
6.งดใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของที่อาจปนเปื้อนเลือดได้ เช่น ใบมีด
โกน แปรงสีฟัน
7.ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์
8.แนะนำให้สามีหรือภรรยา และบุตรที่ยังไม่มีภูมิต้านทานโรค ให้ได้รับการ
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี