โรคไวรัสตับอักเสบ
ในปัจจุบันนี้ มีคนจำนวนมากคิดว่าโรคที่ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และเลือดที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายนั้นมีเฉพาะโรคเอดส์ แต่อีกหลายคนคงจะไม่ทราบว่าโรคไวรัสตับอักเสบ บี ไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถติดเชื้อได้จากทางนี้เช่นกัน ถึงแม้จะมีความรุนแรง และอันตรายไม่เท่ากับโรคเอดส์ แต่ถ้าไม่ทำการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง ก็อาจถึงกับเสียชีวิตได้
โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “โรคตัวเหลืองตาเหลือง หรือโรคดีซ่าน” เชื้อไวรัสตับอักเสบมีมานานแล้ว แต่มาค้นพบเมื่อการแพทย์เจริญมากขึ้น เชื้อไวรัสตับอักเสบที่ค้นพบขณะนี้คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ, เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี, เชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี และเชื้อไวรัสตับอักเสบที่ไม่ใช่เอและบี ภายหลังได้ชื่อว่า “ไวรัสตับอักเสบ ซี และไวรัสตับอักเสบ อี”
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ
เชื้อไวรัสตับอักเสบที่เรียกชื่อแตกต่างกันนั้น โดยทั่วไปพบว่ามีอาการคล้ายคลึงกัน คือจะมีอาการอ่อนเพลียนำมา มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด เจ็บบริเวณชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง โดยทั่วไปแล้ว อาการของโรคตับอักเสบอาจปรากฏอยู่ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นค่อยๆ ลดลงจนหายเป็นปกติ ภายใน 4-6 สัปดาห์
โรคตับอักเสบบางชนิดอาจหายขาดได้ บางชนิดอาจเป็นเรื้อรังไปอีกหลายปี หรืออาจเกิดผลแทรกซ้อนตามมาในระยะยาว
โรคไวรัสตับอักเสบ บี
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะมีระยะฟักตัวของโรค ภายในเวลา 30-150 วัน โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีลมพิษเกิดขึ้นก่อนที่อาการตาเหลือง ตัวเหลืองจะปรากฏชัดเจน ผู้ที่ตรวจพบไวรัสตับอักเสบ บี มักจะไม่ค่อยกลัวและวิตกกังวลเท่าไร เพราะว่าถ้าได้รับการพักผ่อนเพียงพอ และได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้อง ดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ดื่มสุราจัด หรือใช้ชีวิตสมบุกสมบัน อะไรที่เป็นพิษเป็นภัยกับตับควรละเว้น สภาพตับจะดีขึ้น จะมีอันตรายก็ต่อเมื่อ ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปแล้วไม่ไปรับการรักษาพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ หายแล้วก็ไม่ค่อยระวัง โรคอาจจะกลับมาอีก คราวนี้จะมีความรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคไวรัสตับอักเสบ ซี
โรคไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดมานานแล้ว แต่ยังค้นไม่พบ สมัยก่อนเมื่อเห็นตัวเหลืองตาเหลืองก็จะตรวจเลือด แต่ผลจากการตรวจเลือดพบว่าไม่ใช่ไวรัส เอ หรือไวรัส บี ช่วงแรกจึงเรียกว่าไวรัสตับอักเสบไม่ใช่เอไม่ใช่บี ต่อมาประมาณปลายปี 2532 ได้มีน้ำยาตรวจสอบจึงพบไวรัสตัวหนึ่ง ในส่วนของไวรัสตับอักเสบ ไม่ใช่เอและไม่ใช่บี คือไวรัสตับอักเสบ ซี นั่นเอง
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ก็เหมือนกับโรคไวรัสตับอักเสบ บี คือเมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เข้าไปจะใช้ระยะเวลาฟักตัว 6 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน อาการที่พบจะรุนแรงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ติดเชื้อ ความรุนแรงของเชื้อที่พบใกล้เคียงกัน ผลจากการแทรกซ้อนสามารถทำให้เกิดโรคตับเรื้อรังได้เช่นเดียวกัน
การติดต่อของโรคไวรัสตับอักเสบ บี และโรคไวรัสตับอักเสบ ซี
โรคไวรัสตับอักเสบ บี และโรคไวรัสตับอักเสบ ซี จะแพร่เชื้อโรคไปยังผู้อื่นได้โดย
-การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบ ซี นั้น จากการศึกษา ขณะนี้พบว่าการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นน้อยมาก
-ทางเลือด โดยการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย เช่น ถูกเข็มที่ใช้เจาะเลือดหรือฉีดยาผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ตำหรือแทงโดยอุบัติเหตุที่มือ หรือผิวหนังมีแผลถลอกแล้วไปสัมผัสกับเลือดของผู้ป่วย
-แม่สู่ลูก คือแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในขณะตั้งครรภ์เมื่อคลอดลูก ลูกจะได้สัมผัสกับเลือดของแม่ในช่องคลอด จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีรายงานว่าติดต่อได้ทางนี้
ความรุนแรงของโรค
โรคไวรัสตับอักเสบ บี โรคนี้ถ้าอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน จะมีอาการของโรคตับอักเสบเรื้อรังได้ ในบางรายอาจเป็นตับแข็ง บางรายอาจมีอาการอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด บางรายอาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งของตับ สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มีข้อได้เปรียบกว่าโรคไวรัสตับอักเสบ ซี คือมีวัคซีนป้องกัน ฉะนั้นสามี ภรรยา หรือบุตรของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ และยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อกับบุคคลภายนอกในครอบครัวหรือคนอื่นอีกด้วย
โรคไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีวัคซีนป้องกันความรุนแรงของโรคใกล้เคียงกัน ผลจากการแทรกซ้อนสามารถทำให้เกิดโรคตับเรื้อรังได้เช่นเดียวกัน
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี โรคไวรัสตับอักเสบ ซี
*ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
*ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น
โรคไวรัสตับอักเสบ บี และโรคไวรัสตับอักเสบ ซี รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่สามารถติดเชื้อได้ทางเพศสัมพันธ์และทางเลือดบางชนิด เช่นโรคซิฟิลิส ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ งดรับบริจาคโลหิตจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเหล่านี้
ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย
No comments:
Post a Comment