โรคตับอักเสบบี คืออะไร
ตับอักเสบบี คือ การอักเสบของเซลล์ตับอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBV) การอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได
ไวรัสตับอักเสบ มีความสำคัญกับเราหรือไม่
ในประเทศไทยคาดว่าประชากรประมาณร้อยละ 5 มีการติดเชื้อไวรัสตับอับเสบ บี นั่นหมายถึง ประชากรประมาณ 3 ล้านคน มีไวรัสนี้พร้อมที่จะแพร่ให้ผู้อื่นและก่อให้เกิดความเจ็บป่วยกับผู้ติดเชื้อ
ไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันอย่างไร
การติดเชื้อที่พบบ่อย คือ การถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก แต่ในปัจจุบันจะลดลงมากเพราะการฉีดวัคซีนให้ทารกที่คลอดมาจะช่วยป้องกันได้เกือบร้อยละ 100 ดังนั้นการติดต่อที่สำคัญในปัจจุบันคือ ทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ป้องกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบ บี จะสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์ การสัก เจาะหู หรือการฝังเข็ม โดยอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง การได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ไม่จำเป็นก็อาจเป็นสาเหตุได้แต่พบได้น้อยมากในการตรวจกรองของธนาคารเลือดในปัจจุบัน
หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีอาการอย่างไร
หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะเข้าไปฟักตัวในร่างกายเราประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด คลื่นไส้ อาเจียน จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับไต ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลา 2-3 สัปดาห์ และร่างกายจะค่อยๆ กำจัดไวรัสตับอักเสบ บี ออกไปพร้อมๆ กับการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีซ้ำอีก ผู้ป่วยร้อยละ 5-10 อาจโชคไม่ดี ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ เกิดการติดเชื้อเรื้อรังโดยเฉพาะหากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ตั้งแต่เด็กๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหากตรวจเลือดพบว่ามีไวรัสตับอักเสบ บี ผู้ป่วยบางรายจะมีการอักเสบของตับร่วมอยู่ด้วย ซึ่งหากมีการอักเสบตลอดเวลาจะทำให้มีการตายของเซลล์ตับ เกิดมีพังผืดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นตับแข็งในที่สุด ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจกลายเป็นมะเร็งตับซ้ำเติม
แพทย์สามารถวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ บี ได้อย่างไร
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ บี ในปัจจุบันทำได้ง่ายมาก เพียงตรวจเลือดในปริมาณเล็กน้อยเพื่อหาเปลือกของไวรัส (HBsAg) ก็จะทราบได้ว่าท่านมีไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งแพทย์อาจตรวจหาหลักฐานว่ามีตับอักเสบหรือไม่โดยการตรวจระดับ เอนไซม์ของตับ (AST / ALT) โดยในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจนัดตรวจ 1-2 ครั้งในเวลาห่างกันทุกๆ 1-2 เดือน ก็จะทราบได้ว่าท่านมีตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่ นอกจากนั้นแพทย์อาจตรวจหาปริมาณไวรัสโดยทางอ้อมด้วยการตรวจ HBeAg หรือการตรวจนับไวรัสในเลือดโดยตรง เพื่อประเมินปริมาณของไวรัส ก่อนการรักษา แพทย์อาจจะตรวจชิ้นเนื้อตับ โดยใช้เข็มที่มีขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังหลังจากฉีดยาชา ซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อนี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการอักเสบของตับ
หากตรวจพบว่าท่านเป็นตับอักเสบ บี เรื้อรัง จะทำอย่างไร
ในปัจจุบันมีการรักษาที่ได้ผลในการลดการอักเสบของตับอยู่หลายวิธี ทั้งโดยยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน หรือยารับประทาน ลามิวูดีน ซึ่งยาทั้งสองอย่างสามารถลดปริมาณของไวรัส ลดการอักเสบของตับ ทำให้ระดับเอนไซม์ของตับกลับสู่ภาวะปรกติ นอกจากนั้นยังอาจลดเนื้อเยื่อพังผืดในตับ ป้องกันการเกิดตับแข็งหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ การตัดสินใจเลือกชนิดยาสำหรับการรักษา แพทย์ผู้ดูแลจะอธิบายกับท่านถึงผลดีผลเสียของการใช้ยาทั้งสองอย่าง และช่วยพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับยาชนิดใดมากกว่ากัน นอกจากนั้นท่านควรปฏิบัติตัวโดยการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรงดดื่มสุราและหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น พร้อมกับไปพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจการทำงานของตับและแพทย์อาจตรวจกรองหามะเร็งตับร่วมด้วย ท่านสามารถแต่งงานมีบุตรได้โดยควรตรวจคู่สมรสของท่านก่อนแต่งงาน หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันควรได้รับการฉีดวัคซีน ในกรณีมีบุตร ทารกทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากมารดาอยู่แล้ว และมารดาสามารถให้นมบุตรได้ตามปรกติ
หากท่านสงสัยว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบ บี ควรทำอย่างไร
ท่านควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเลือด ซึ่งสามารถให้คำตอบแก่ท่านได้ในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก โปรดอย่าลืมว่าไวรัสตับอักเสบ บี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนและแม้ท่านได้รับเชื้อไปแล้วมีภาวะตับอักเสบก็ยังรักษาได้โดยการใช้ยา ถึงแม้ว่าไวรัสตับอักเสบ บี อาจไม่ได้หมดจากร่างกายแต่ก็สามารถหยุดยั้งไม่ให้เกิดการอักเสบ ป้องกันการเกิดโรคแทรก
เราสามารถป้องกันตนเองได้อย่างไร
1.โดยดูแลตนเองให้พ้นจากความเสี่ยงดังกล่าว
2.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในผู้ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน
ใครบ้างที่ควรรับการฉีดวัคซีน
1.เด็กทารกที่เกิดใหม่ทุกคน
2.ผู้ที่ได้รับการตรวจเลือด แล้วพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน
3.ผู้ที่มีบาดแผลสัมผัสกับเลือดของคนที่เป็นพาหะ
4.ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับเลือดหรือสารจากเลือดบ่อยๆ
5.ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเลือด
6.ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวเป็นพาหะ หรือผู้ป่วยเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส บี
7.ผู้ที่จะแต่งงานกับคนที่เป็นพาหะ
วัคซีนนี้ฉีดอย่างไร
เด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก
- ฉีดวัคซีนขนาดของเด็ก เข็ม ห่างกัน 0 ,1 และ 6 เดือน
ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่
- ฉีดวัคซีนขนาดของผู้ใหญ่ เข็ม ห่างกัน 0,1 และ 6 เดือน
เหตุผลที่ควรรับการฉีดวัคซีน
ในเด็กทารกที่ติดเชื้อจากมารดา จะมีโอกาสเป็นพาหะของโรค และเมื่อโตขึ้นอาจจะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้ง่าย
ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่เมื่อเป็นแล้วจะต้องนอนพักผ่อน 1-2 เดือน ทำให้นักเรียนและนักศึกษาจะกระทบต่อผลการเรียนและพลาดโอกาสในการเรียนต่อ ถ้าเป็นคนทำงาน ก็จะหยุดงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานและประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังเพื่อนร่วมงานใกล้เคียงได้
เพราะเหตุใดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จึงแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่
1.จากการสัมผัสถูกเลือด โดยมีบาดแผลเกิดขึ้น เช่น จากการเล่นกีฬา เป็นต้น
2.จากการใช้ของร่วมกัน ได้แก่ แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ มีดโกนหนวด เป็นต้น
3.จากการดื่มกินโดยใช้ภาชนะเดียวกันร่วมกัน
4.จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นโอกาสที่เกิดสูงที่สุด
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบี
เมื่อมีการปฏิบัติตนให้ถูกต้องจะลดและป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่บุคคลใกล้ชิด ซึ่งสามารถปฏิบัติตนได้ดังนี้
1.รักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายได้ตามปกติ
2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
3.งดสุราและสิ่งที่มีพิษต่อตับ
4.ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
5.งดบริจาคเลือด น้ำเหลือง รวมทั้งน้ำเชื้อ
6.งดใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของที่อาจปนเปื้อนเลือดได้ เช่น ใบมีด
โกน แปรงสีฟัน
7.ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์
8.แนะนำให้สามีหรือภรรยา และบุตรที่ยังไม่มีภูมิต้านทานโรค ให้ได้รับการ
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี
No comments:
Post a Comment