ภาวะไขมันในโลหิตสูง นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลอดโลหิตตีบตัน ที่จะส่งผลให้เกิดโรคอัมพาต และโรคหัวใจแล้วยังเป็นปัญหาด้านงานบริการโลหิตอย่างมาก
ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พบว่าพลาสมาในโลหิตของผู้บริจาคมีลักษณะขุ่นขาวมากกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการมีสารไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์หรือโคเลสเตอรอลสูง ส่งผลให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ต้องจำหน่ายโลหิตดังกล่าวทิ้งเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 800 ยูนิต นับเป็นการสูญเสียที่สูงมาก ดังนั้นก่อนบริจาคโลหิตในแต่ละครั้ง ผู้บริจาคควรงดรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
F1,F2,F3 คืออะไร
สำหรับผู้บริจาคโลหิต ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ที่มีรหัส F1,F2,F3 ปรากฏในบาร์โค้ตการบริจาคโลหิต แสดงว่า พบพลาสมาขาวขุ่นในโลหิตมากกว่าปกติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
F1 หมายถึง พบพลาสมาขาวขุ่นเป็นครั้งแรก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะแจ้งให้ผู้บริจาคโลหิตทราบ รวมทั้งให้คำแนะนำ และความรู้เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการลดระดับไขมันในโลหิต
F2 หมายถึง เมื่อมาบริจาคโลหิตอีกครั้ง ก็ยังพบว่ามีพลาสมาขาวขุ่นเหมือนเดิม ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้บริจาคมาตรวจหาระดับไขมันในโลหิต โดยให้งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ยกเว้นน้ำเปล่าประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนเจาะโลหิต
F3 หมายถึง ยังพบพลาสมาขาวขุ่น ให้งดบริจาคโลหิต
ไขมันในโลหิตมี 3 ประเภท คือ
1. โคเลสเตอรอล ได้มาจากการสังเคราะห์ที่ตับและจากอาหาร ไขมันสัตว์ที่รับประทานมีหน้าที่เป็นองค์ประกอบในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตเป็นส่วนประกอบของถุงน้ำดี แต่ถ้ามีระดับสูงมากเกินพอจะเกิดเป็นแผ่นคราบเกาะแน่นที่ผนังชั้นในของหลอดโลหิต
2. เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล เป็นโคเลสเตอรอล ดี มีหน้าที่นำเอาโคเลสเตอรอลไปทำลายที่ตับ ทำให้มีโอกาสเกิดหลอดโลหิตตีบลดลง
3. ไตรกลีเซอร์ไรด์ ได้มาจากการสังเคราะห์ที่ตับ และจากอาหารประเภทไขมันสัตว์ แป้งและน้ำตาล ถ้ามีระดับสูงมากจะทำให้หลอดโลหิตอุดตัน
สาเหตุของไขมันในโลหิตสูง
1. กรรมพันธุ์ เกิดจากความผิดปกติในการเผาผลาญสารไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย ความผิดปกตินี้ถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้
2. การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากๆเป็นประจำ เช่น หมูสามชั้น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ฯลฯ
3. รับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล กะทิจำนวนมากๆ
4. โรคเบาหวาน โรคต่อมธัยรอยด์ไม่ทำงาน โรคตับ โรคไต โรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้การเผาผลาญสารไขมันผิดปกติ
5. ยา ในยาบางชนิดทำให้ไขมันในโลหิตสูงได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด ยากลุ่มเสตียรอยด์ เป็นต้น
ระดับไขมัน
ชนิดของไขมัน ระดับที่เหมาะสม (mg/dl) ระดับที่เหมาะสมในผู้บริจาคโลหิต (mg/dl)
โคเลสเตอรอล 150-220 < 200
ไตรกลีเซอร์ไรด์ 40-150 < 200
เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล > 50 > 50
วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันระดับไขมันในโลหิตสูง
1. ลดน้ำหนักตัวถ้าอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินโดยลดปริมาณอาหาร และออกกำลังกาย อาหารที่มีไขมันสูงที่ท่านควรเลี่ยง เช่น ไข่แดง, ไข่นกกระทา, เครื่องในสัตว์, เนื้อสัตว์ส่วนที่ติดมันทุกชนิด, สมองสัตว์, อาหารทะเล เช่น หอยนางรม, ปลาหมึก ฯลฯ
2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน, อาหารทอดเจียว ควรใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น เนย น้ำมันหมู น้ำมันพืชที่สกัดจากเมล็ดพืชจะมีกรดไลโนเลอิกที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลไปเผาผลาญสูงกว่าน้ำมันที่สกัดจากเนื้อพืช
3. เครื่องดื่มจำพวกเบียร์ ขนมหวาน แป้งข้าวต่าง ๆ จะสะสมเกิดเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
4. ควรเพิ่มอาหารพวกผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใย และกาก เช่น คะน้า ผักกาด ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยอาหารมากขึ้น กากใยเหล่านี้จะช่วยให้การดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
5. พยายามเปลี่ยนแปลงวิธีปรุงอาหารเป็นการนึ่ง ต้ม ย่าง อบ แทนการทอด หรือผัด
6. นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูงหากจะดื่มควรใช้นมพร่องมันเนยแทนนมสด
7. ออกกำลังกายเพื่อให้มีผลต่อการเผาผลาญพลังงาน และลดปริมาณไขมันในโลหิตนั้นต้องเป็นการออกกำลังที่สม่ำเสมอ มีการต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง สำหรับการออกกำลังที่ดีที่สุด เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอด และหัวใจ คือ การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ การขี่จักรยาน ซึ่งหากคุณมีอาการของโรคหัวใจอยู่แล้ว หรือมีอายุมากกว่า 40 ปี ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรออกกำลังกายชนิดใด และมากน้อยเพียงไร จึงจะเหมาะสมสำหรับท่าน เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์อย่างเดียว โดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ
ตัวอย่างอาหาร ปริมาณของโคเลสเตอรอลในอาหาร 100 กรัม (1 ขีด) (ในแต่ละวันควรได้รับโคเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัม)
ชนิดอาหาร ปริมาณ โคเลสเตอรอล (mg) ชนิดอาหาร ปริมาณโคเลสเตอรอล (mg)
ไขมัน เนื้อสัตว์
ไอศครีม 40 เนื้อแพะ,แกะ 60-70
ครีม 60 เนื้อไก่,เป็ด 60-90
ไขวัว 90-170 เนื้อหมูไม่ติดมัน 91
น้ำมันหมู 110 เนื้อปู 145
เนยแข็ง 140 เนื้อกุ้ง 150
เนยเหลว 250 ปลาหมึกสด 348
เครื่องในสัตว์ ปลาหมึกแห้ง 1,170
ตับหมู 364 หอยแครง,แมลงภู่ 454
หัวใจหมู วัว 135 หอยนางรม >200
ไข่ปลา >300 แฮม, ขาไก่ 100-110
ไข่นกกระทา 3,640 ปลาตะเพียน 90
ไข่แดงล้วน 1,480 ปลาลิ้นหมา 87
ไข่ไก่ 1 ฟอง 504 ปลาดาบเงิน 244
ไข่ขาว 0
ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย
No comments:
Post a Comment